พระวิหารทองคำและบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์

สถานที่ตั้ง : เมืองอัมริตซาร์ ประเทศอินเดีย
พระวิหารฮัรมัรดิร ซาฮิบ นั้นเป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์มากที่สุดแห่งหนึ่งของศาสนาซิกข์ พระวิหารแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนามของ พระวิหารดัรบาร ซาฮิบ หรือพระสุวรรณวิหาร เป็นสถานที่สำคัญที่ชาวซิกข์ทุกคนปรารถนาที่จะมาเยี่ยมคารวะและได้ลงไปอาบน้ำในสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ ณ พระวิหารแห่งนี้ พระวิหารแห่งนี้ ได้สร้างขึ้นบนพื้นที่ทั้งสิ้น 67 ตารางฟุต ซึ่งตั้งตระหง่าน อยู่กลางบ่อน้ำโซราวอร์ บ่อน้ำนี้กว้าง 150 เมตร ล้อมรอบ วิหารทั้งสี่ด้าน ส่วนตัวพระวิหารนั้น มีพื้นที่ 40.5 ตารางฟุต พระวิหารฮัรมันดิร ซาฮิบนี้จะมี ประตูทางเข้าออก ครบทั้งสี่ทิศ และมีซุ้มประตูทางเข้ารอบนอก สร้างอยู่ ริมฝั่งของบ่อน้ำ โดยมีความสูงถึง 10 ฟุต และกว้าง 8 ฟุต 6 นิ้ว ประดับลวดลายด้วย แผ่นทองคำเปลวอย่างสวยงาม ซึ่งจากซุ้มประตูริมฝั่งของบ่อน้ำนี้จะมีสะพานทอดยาวบนบ่อน้ำ ไปจนถึงอาคาร พระวิหาร ฮัรมันดิร ซาฮิบ ซึ่งมีความยาว 202 ฟุต และกว้าง 21 ฟุต ผู้ซึ่งเป็นผู้ซึ่งริเริ่มให้มีการสร้างศาสนสถานเพื่อชาวซิกข์ทั้งปวงคือท่าน คุรุ อมัรดาส ยิ ปัจจัยที่มีส่วนสำคัญที่เป็นแรงจูงใจให้ท่านพระศาสดาเกิดความคิดในการสร้างศาสนสถานนี้ขึ้นมาก็คือ การสืบทอดวัฒนธรรม เพื่อให้ชาวซิกข์ทั้งหลายได้ใช้เป็นสถานที่ในการร่วมชุมนุมกันอย่างพร้อมเพรียง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่ปฏิบัติสืบทอดมาจากพระศาสดาองค์ก่อนหน้าท่านนั่นเอง ท่าน คุรุ อัรยัน เดว ยิ ได้ทำการปฏิสังขรณ์บ่อน้ำแห่งนี้ โดยได้สั่งให้ก่ออิฐรอบบ่อน้ำ เพื่อให้มีความแข็งแรงทนทานมากขึ้น ชาวซิกข์ต่างก็ร่วมมือกันอย่างขะมักเขม้น ทำให้การปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ในเวลาอันรวดเร็ว และท่าน คุรุ อัรยัน เดว ยิ ได้แต่งบทเพลงอันไพเราะมากมายขึ้นมา เพื่อเป็นการสรรเสริญบ่อน้ำโซราวอร์ศักดิ์สิทธิ์ และเพื่อเป็นการแสดงถึงประโยชน์และความสำคัญของการได้ลงไปอาบน้ำในบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ต่อมาบ่อน้ำอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ก็ได้รับการขนานนามใหม่ว่า "อัมริตโซราวอร์" หรือ "อัมริต" ซึ่งมาจากรากฐานศัพท์ของคำว่า "อมฤต" นั่นเอง ชื่อเสียงของบ่อน้ำอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ได้โด่งดังไปทั่วราชอาณาจักร ทำให้เมืองนี้ได้มีการเปลี่ยนชื่อเมืองจากเดิมเป็นชื่อ เมืองอัมริตซาร์ ตามชื่อของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ในเวลาต่อมา